"สายมู" มาแรง หากินกับความเชื่อคนไทย ไอเทมเครื่องรางของขลัง ต้องมี

ความเชื่อและสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ อยู่คู่กับคนไทยมานาน ไม่ว่าสถานการณ์ในสังคมจะเป็นอย่างไร เกิดการระบาดของโควิดหรือไม่ สิ่งที่เกี่ยวข้องกับศรัทธา หรือศาสตร์ต่างๆ ไม่เคยเลือนหายจางไป
  • 23 มกราคม 2564
  • 511 VIEW


ความเชื่อและสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ อยู่คู่กับคนไทยมานาน ไม่ว่าสถานการณ์ในสังคมจะเป็นอย่างไร เกิดการระบาดของโควิดหรือไม่ สิ่งที่เกี่ยวข้องกับศรัทธา หรือศาสตร์ต่างๆ ไม่เคยเลือนหายจางไป มีแต่พัฒนาในหลายรูปแบบมากขึ้นในยุคปัจจุบัน


ทำให้การตลาด "สายมู" หรือมูเตลู ถูกหยิบมาเป็นกลยุทธ์เด็ดในการสร้างสีสัน และออกแบบสรรค์สร้างผลิตภัณฑ์ในการทำธุรกิจ โกยกำไรรายได้งามๆ ราวกับปาฏิหาริย์แบบไม่น่าเชื่ออย่าลบหลู่ 


งานวิจัย “Marketing in the Uncertain World การตลาดของคนอยู่เป็น” ของวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่าคนไทยกว่า 52 ล้านคนในปัจจุบันมีความเชื่อเรื่องโชคลาง ทั้งการพยากรณ์ โหราศาสตร์ ดูลายมือ ไพ่ยิปซี การบูชาพระเครื่องวัตถุมงคล ใส่เสื้อผ้าสีมงคล แสวงหาตัวเลขมงคล และเรื่องเหนือธรรมชาติ





สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเช่นนั้นจริงๆ หรือใครจะปฏิเสธ เพราะบางคนแค่ก้าวเท้าออกจากบ้านยังมีเคล็ดมากมายที่ต้องทำ เพื่อให้ได้ในสิ่งที่คิดและสมปรารถนา หากโดนจิ้งจกทักก็คิดว่าเป็นลางบอกเหตุตามความเชื่อของคนโบราณ “ดร.ภูษิต วงศ์หล่อสายชล” อาจารย์ประจำคณะบริหาร มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด บอกเลยว่า คนไทยกับเรื่องความเชื่อ ความศรัทธาใดๆ มีมานานแล้ว ไม่ได้เพิ่งเกิด อย่างในต่างจังหวัดบางแห่งก็เชื่อเรื่องหมอผี การไปกราบไหว้วัดดัง มีความเชื่อเรื่องยันต์ ซึ่งความเชื่อเหล่านี้มีมานานตั้งแต่ในอดีต ตามชุมชนทั่วไปที่เป็นกลุ่มตลาดสายมู จนกลายเป็นเรื่องปกติทั่วๆ ไป




แต่มาตอนหลังได้มีการพัฒนามากขึ้น มีการอัปเกรดการดูหมอ ดูลายมือ ดูดวงพยากรณ์โหราศาสตร์ ผ่านทางคอลเซ็นเตอร์ และวางโพสิชันนิ่งปรับตำแหน่งทางการตลาด ยกระดับให้เป็นไฮเอนด์เข้าถึงลูกค้าตลาดบนมากขึ้น เพื่อเจาะกลุ่มคนรวย กลุ่มไฮโซ อย่างฮวงจุ้ย ก็เป็นการเล่นกับความเชื่อ หรือในต่างประเทศ เช่น ฮ่องกง เมื่อไปไหว้ขอพรเทพเจ้าที่วัดหวังต้าเซียน ก็ต้องซื้อกังหันนำโชค แม้แต่ญี่ปุ่น ยังมีโอมาโมริ เป็นถุงยันต์ที่สวยงามดูดีขึ้น




ส่วนเมืองไทย จากที่เคยเป็นตะกรุด ปลัดขิก ได้มีการวางโพสิชันนิ่ง เพื่อเจาะกลุ่มคนมีเงิน หรือกลุ่มดารานักแสดง นำไปสู่การสร้างแบรนด์ไลลา ออกแบบเครื่องประดับเป็นตะกรุด ซึ่งมีกลุ่มดารานำมาใส่จนดูสวยงาม กลายเป็นของโชว์มีความงดงามที่มาพร้อมกับความเชื่อ จากเดิมตะกรุดต้องสักการบูชาโดยตรงจากพระสงฆ์


หรือหากจำกันได้เมื่อหลายปีมาแล้ว ผู้คนนิยมหินนำโชค โดยสิ่งที่ทำให้โด่งดังมากก็มาจากดารานักแสดง รวมถึงกลุ่มหมอดู ได้ถูกดึงให้มาทำหน้าที่ในการทำพิธีสักการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เป็นการตลาดในภาพของการใช้อินฟลูเอนเซอร์ ผู้มีอิทธิพลซึ่งเป็นคนดังเป็นที่รู้จักในสังคม



"สายมู" ต้องมี ที่พึ่งคนไทย ขอให้รวย เจอคนรัก


ปัจจุบันผู้คนมีความผิดหวังมากขึ้นในช่วงเศรษฐกิจถดถอย ต้องไปพึ่งไปหายันต์มาบูชา หรือเมื่อเกิดความไม่สบายใจก็ต้องไปทำบุญเข้าวัด ดังนั้นเมื่อไม่มีที่พึ่งก็ต้องหันไปพึ่งความเชื่อเหล่านี้ เพื่อขอให้ประสบความสำเร็จ โดยสิ่งที่คนนิยมขอพรมากสุดอันดับแรก คือ เรื่องความรัก ซึ่งปัจจุบันคนนิยมไปไหว้พระตรีมูรติ บริเวณหน้าเซ็นทรัลเวิลด์ เพื่อให้เจอคนรัก และได้ทำให้ใจยกระดับขึ้น จนรู้สึกดีขึ้น หน้าตาสดใส เมื่อไปอยู่ในสถานที่ที่มีคนจำนวนมาก อาจไปเจอคนที่ใช่จนรู้สึก "ปิ๊ง" ขึ้นมาก็ได้ และเมื่อประสบความสำเร็จจึงมีการบอกปากต่อปาก ไม่ต่างกับการไปขูดหาดูเลขหวย เมื่อมีคนถูกหวย ก็จะมีการบอกต่อๆ กันถึงความศักดิ์สิทธิ์


อันดับสองที่คนนิยมขอพร เป็นเรื่องของการเงิน โชคลาภ ขอให้ถูกลอตเตอรี่ หากบางคนได้โชค เช่น ถูกเลขสองตัวไม่กี่พันบาท ก็ออกมาป่าวประกาศ ทั้งๆ ที่ความจริงไม่คุ้ม เพราะซื้อไปเกือบ 100 ใบ ส่วนอันดับสาม ขอพรเรื่องสุขภาพ หรือเมื่อได้สิ่งศักดิ์สิทธิ์มา มักเชื่อว่าจะทำให้สุขภาพดี แต่ควรต้องยอมรับว่าการมีสุขภาพดี ไม่ใช่มาจากร่างกายเพียงอย่างเดียว ต้องมีจิตใจที่ดีด้วย เพราะเมื่อจิตใจดี สุขภาพก็จะดีตามมา



อันดับสี่ อีกสิ่งที่คนนิยมขอพรในเรื่องหน้าที่การงาน หรือขอให้สอบเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้ ซึ่งความเป็นจริงแล้วในจำนวน 100 คน อาจสำเร็จ 1 คนก็ได้ จึงไปแก้บนตามคำขอ ส่วนคนที่ไม่ได้ก็เงียบไป ไม่มีการป่าวประกาศใดๆ และอีกการขอพรที่มาแรง คือ การเสริมดวง สร้างบารมี โดยบางคนดีอยู่แล้วก็ไปเสริมดวงให้แข็งแกร่งขึ้น ไปขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ดีกว่าเดิม ซึ่งตามหลักที่บางคนรวยอยู่แล้ว เมื่อไปซื้อหุ้นก็ยิ่งรวยมากขึ้น หรือเอาไปลงทุน


“ความเชื่อความศรัทธา เป็นหลักที่พึ่งให้กับคนในการสร้างแรงกำลังใจ พอได้สิ่งที่ดียิ่งขึ้น จะมีการบอกปากต่อปาก ทำให้กลุ่มเป้าหมายเปลี่ยนไป จากกลุ่มชาวบ้าน ขยับมาอีกกลุ่ม จากการบอกปากต่อปาก ไปสู่การทำตลาดผ่านอินฟลูเอนเซอร์ และดิจิตอลมาร์เก็ตติ้ง มีการโพสต์ลงโซเชียล ทำให้เห็นมากขึ้นก็ยิ่งทำให้คนเกิดความศรัทธา เป็นการสร้างโปรดักส์ให้เกิดความงมงาย และออกแบบดีไซน์ให้สวยงาม อย่างกรณีไอ้ไข่ ไม่พูดถึงไม่ได้ แม้ขณะนี้มีการระบาดของโควิด เที่ยวบินหลายเส้นทางลดจำนวนเที่ยวบิน แต่เที่ยวบินนครศรีธรรมราชกลับเพิ่มมากขึ้น”




"จิตวิญญาณและศาสนา" เทรนด์ท่องเที่ยวแนวใหม่มาแรง

จากความเชื่อความศรัทธาของคนไทย ไม่มีวันจางหายไปจากสังคม ทำให้เกิดแนวโน้มใหม่ในอนาคต ในด้านการท่องเที่ยว กลายเป็นการท่องเที่ยวสายมู ซึ่งเป็นเทรนด์ใหม่มาแรง จากเดิมไหว้พระ 7 วัด 9 วัด หรือ 10 วัด หรือเดิมเคยเป็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ได้เปลี่ยนมาเป็นการท่องเที่ยวทางจิตวิญญาณและศาสนา ไปบูชาสักการะสิ่งที่เคารพศรัทธา และไปงานประเพณีต่างๆ ในท้องถิ่น ซึ่งเป็นการสร้างธุรกิจในอนาคต ติดอันดับ 1 ใน 8 เทรนด์ เพราะต้องยอมรับว่าขณะนี้มีกลุ่มยูทูบเบอร์ หรือพิธีกรดังๆ หันมาทำรายการแนวนี้จำนวนมาก


“ยิ่งโควิดระบาด คนขาดที่พึ่งทางใจ จึงอยากหาที่พึ่งมากขึ้น จนธุรกิจสายมูโตต่อเนื่อง เหมือนตลาดออนไลน์ เพราะมีคนศรัทธามากขึ้น เชื่อว่าขออะไรก็ได้ จึงซื้อหาเครื่องรางของขลังมาใส่ จนกลายเป็นเครื่องบ่งบอกถึงฐานะ ทำให้ตัวเองดูดี แต่อยากให้เชื่อได้ แต่อย่าลุ่มหลง หากบางคนไม่กระทำ ไม่ดูแลตัวเอง กินเหล้า สูบบุหรี่ ก็คงไม่ดีขึ้น หรือไม่ทำงาน มัวแต่หวังโชคจากลอตเตอรี่ คงไม่ได้ ส่วนธุรกิจสายมู อย่าเอาแต่ขายๆ จนเกินไป การหากินกับศรัทธาของคน อย่าดาร์กไซด์เกินไป ต้องเดินสายกลาง”.


ผู้เขียน : ปูรณิมา








ที่มา ไทยรัฐ